วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

วงเสวนาชี้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ชาวนครพนมได้ประโยชน์แน่




ห่วงเป็นแค่เมืองผ่านตามหนองคาย เร่งหามาตรการป้องกัน จัดตั้งคลังสมองชุมชนร่วมคิด ติงแผนยุทธศาสตร์จังหวัดไม่ครอบคลุม ชูจุดเด่นโลจิสติกส์สินค้าเกษตรส่งขายจีน พร้อมเร่งการท่องเที่ยวรับสะพาน

นายบวร บุปฝเวส อดีตนายกเทศมนตรีเมืองนครพนม กล่าวว่า “การเปิดสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 3 จะเป็นการได้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทย ลาว เวียดนาม และจีน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่จีนต้องการจากประเทศไทยคือยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวหอมมะลิ เมื่อสะพานสร้างเสร็จเราก็จะขายสินค้าโดยตรงไปยังจีนโดยไม่ผ่านเวียดนามอย่างเช่นปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ได้ราคาและคุณภาพดีกว่ามาก การเตรียมรับสะพานนั้นทุกคนต้องมีส่วนร่วมกัน โดยเฉพาะการแสดงความคิดเห็น ชาวนครพนมก็ได้รวมตัวกันในภาคประชาสังคม ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อจังหวัดนครพนมชื่อกลุ่มพนมนครานุรักษ์ขึ้น แสดงทัศนะที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่น”
รศ.ดร.จำนง วงษ์ชาชม คณบดีคณะวิทยาการจัดการและเทคโนสารสนเทศ มหาวิทยาลัยนครพนมกล่าวว่า “จากการถอดบทเรียนจากวงเสวนาย่อย ๆ ของผลที่เกิดขึ้นจากสะพานมิตรภาพไทย – ลาว จังหวัดหนองคาย เพื่อให้เป็นแนวทางที่จะเตรียมความพร้อมให้กับสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 3 จังหวัดนครพนม สามารถสรุปประเด็นได้ 2 ประเด็นคือ ด้านบวก พบว่าเกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ มีความร่วมมือในด้านการควบคุมโรคทั้งติดต่อ และไม่ติดต่อ ป้องกันอาเสพติดริมแม่น้ำโขง ส่งเสริมการท่องเที่ยวของสองประเทศ ศึกษาดูงาน ซื้อขายสินค้า ขยายการศึกษาในระดับปริญญาตรี โท และเอก ส่วนด้านลบ พบว่า การควบคุมการลักลอบซื้อขายสัตว์ป่าได้ลำบาก การขนส่งยาเสพติดมีหลายรูปแบบมากขึ้น การเข้าเมืองของหญิงสาวชาวลาวเพื่อค้าประเวณีเพิ่มขึ้น สินค้าด้อยคุณภาพ เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ การนำเข้าอาหารที่ขาดคุณภาพ การรับวัคซีนของชาวต่างด้าวไม่ครบทำให้เกิดโรคภัยได้ และปัญหาอาชญากรรมก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จ.หนองคายได้เกิดผลกระทบ ก็ควรศึกษาและนำมารับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในจังหวัด นครพนมได้
ในส่วนสถาบันการศึกษาก็ได้จัดเตรียมการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว โดยเปิดสอนด้านการท่องเที่ยว ส่วนสาขาโลจีสติกส์นั้นยังคงมีข้อจำกัดเรื่องบุคลากร ซึ่งมีแผนที่จะเปิดสอนต่อไป
นายป้อง ขันตี นักธุรกิจเจ้าของหมู่บ้านพิมพ์พากร กล่าวว่า “การสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 3 จังหวัดนครพนมนั้น ประโยชน์ที่ตกกับท้องถิ่นสิ่งแรกคือ ราคาที่ดินรอบ ๆ สะพานมีราคาสูงขึ้น จังหวัดนครพนมต้องเตรียมบุคลากรเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาควรเตรียมการเรื่องโลจีสติกส์ สำหรับการเตรียมการของทางจังหวัด จะเห็นได้ว่ายังไม่ครอบคลุมประเด็นมากนัก โดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์จังหวัดที่ยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร ซึ่งถ้าครอบคลุมก็จะสามารถป้องกันปัญหาจังหวัดนครพนมเป็นแค่ทางผ่านได้ด้วยและควรพัฒนาคนเป็นลำดับแรก ให้ความสำคัญกับการคิด กล้าที่จะคิดที่ยิ่งใหญ่ ควรมีหน่วยงานรวมศูนย์ข้อมูลด้านธุรกิจอำนวยความสะดวก และการตัดสินใจในการลงทุนให้กับนักธุรกิจ
ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประธานบริหารหลักสูตรปริญญาโทสาขาเทคโนโลยีการสื่อสาร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เปิดเผยว่า การจัดเสวนาในครั้งนี้ จัดโดยสาขาเทคโนโลยีการสื่อสารร่วมกับคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยนครพนม หนังสือพิมพ์ไทยนิยมและหอการค้าจังหวัดนครพนม จัดการเสวนาเรื่อง สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 3 จ.นครพนม ท้องถิ่นได้ประโยชน์อย่างไร? ขึ้น ณ ห้องประชุม โรงเรียนนครพนมวิทยาคม วันที่ 30 มกราคม 2554 เวลา 13.00 – 15.30 น. วัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากนักวิชาการ และผู้ประกอบการธุรกิจในท้องถิ่น เกี่ยวกับผลดีที่จะเกิดขึ้นกับท้องถิ่นจังหวัดนครพนมเมื่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว ครั้งที่ 3 เพื่อให้ท้องถิ่นได้เตรียมการในอันที่จะสร้างมูลค่าทางธุรกิจให้เกิดขึ้นจากสะพานได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ได้แก่ นักศึกษาปริญญาโท ผู้ประกอบการ นักธุรกิจในท้องถิ่น สื่อมวลชนจังหวัดนครพนม และประชาชนทั่วไป การจัดเสวนาครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สถาบัน อิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยศรีปทุม.