วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประธานหอการค้าอุดรฯชี้นักธุรกิจพร้อมรับอาเซียน ห่วงนศ.ต้องปรับตัว

ผอ.ททท.ร่วมมองชาวอุดรได้ประโยชน์แน่ ชูวัฒนธรรมไทย เชื่อไม่มีใครเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทยได้ดีเท่าคนไทย หลักสูตรปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีการสื่อสาร ร่วมกับสาขาวิชานิเทศศาสตร์และหนังสือพิมพ์เสียงอีสานโพสต์ จัดเวทีสาธารณะเรื่อง เรื่อง "เปิดประตูอาเซียน ชาวอุดรธานีได้ประโยชน์อย่างไร" วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2555 เวลา 9.00 - 12.00 น. ณ ห้อง 324 คณะวิทยาการจัดการ รศ.สมชาย ชื่นวัฒนาประณิธิ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ประธานในพิธีเปิดงาน เปิดเผยว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มีการเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีหลักสูตรสำหรับนักศึกษาอาเซียน ซึ่งจบไป 2 – 3 รุ่น แล้ว ซึ่งบัณฑิตชาวเวียดนามที่จบไปเป็นที่ภาคภูมิใจของผู้ปกครอง มีงานทำและมีความรับผิดชอบเป็นอย่างดี” ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประธานบริหารหลักสูตรเทคโนโลยีการสื่อสาร เปิดเผยว่า การจัดเวทีสาธารณะในครั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปได้มีความรู้ ความเข้าใจในการเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีนักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเวทีสาธารณะกว่า 50 คน การจัดเวทีสาธารณะในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานบัณฑิตศึกษา คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โครงการบ่มเพาะหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น มหาวิทยาลัยศรีปทุม สสส. สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย สำหรับวิทยากรตลอดงานได้แก่นายสุนทร ธรรมวงศา มหาบัณฑิตสาขาวิชาเทคโนโลยีการสื่อสาร นายสวาท ธีระรัตนุกูลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า “นักธุรกิจจังหวัดอุดรธานีเริ่มเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมานานแล้ว แต่เดิมเรียกว่าการค้าชายแดน ซึ่งดำเนินธุรกิจกับลาว เวียดนามทั้ง ๆ ที่จังหวัดอุดรธานีไม่ได้อยู่ติดชายแดน สำหรับชาวอุดรธานีจะได้ประโยชน์จากการเปิดประตูสู่อาเซียนแน่ แต่นักศึกษาต้องมีการปรับตัวในด้านความสามารถเฉพาะตัวที่มีความเฉพาะมากยิ่งขึ้น ซึ่งนักศึกษาสายอาชีพจะมีความต้องการจากตลาดแรงงานมาก จังหวัดอุดรธานีมีศักยภาพด้านการค้า การลงทุน จะเห็นได้จากเริ่มมีนักธุรกิจมาลงทุนทำคอนโดมิเนียมกันมากขึ้น โมเดลของจังหวัดอุดรธานีน่าจะเป็นเมืองเดียวกันกับจังหวัดหนองคาย กล่าวคือการพัฒนาจะยึดโมเดลของกรุงเทพและปริมลฑล ซึ่งจะสามารถเชื่อมอุดรธานีและหนองคายเข้าด้วยกันได้ และในปี พ.ศ. 2557 จะเห็นบริษัทต่างชาติมาลงทุนในอุดรธานี 400 กว่าบริษัท สถาบันการศึกษาต้องเปิดสอนภาษาจีนซึ่งถือเป็นภาษาธุรกิจ” นางอัจฉพรรณ บุญเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า “การท่องเที่ยวในจังหวัดอุดรธานียังมีศักยภาพ ไม่แพ้จังหวัดใด ๆ ในภูมิภาคนี้ การเปิดประตูสู่อาเซียนของการท่องเที่ยวอุดรธานี เริ่มตั้งแต่การมีโครงการ 3 เหลี่ยมมรดกโลกเชื่อมมรดกโลกระหว่างบ้านเชียง หลวงพระบาง ฮาลองเบ สำหรับนักศึกษาต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้มากขึ้น ชูความเป็นไทย วิถีไทยยังเป็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยว อยากเห็นมัคคุเทศก์ไทยพูดได้หลายภาษา ควรฝึกตั้งแต่เด็ก ๆ ควรปลูกฝังให้มีความเข้าใจวัฒนธรรมของชุมชน ต้องหาจุดเด่นของอุดรธานี ดึงนักท่องเที่ยวมาเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวอุดรธานีให้มากขึ้น เช่นการทำโฮมสเตย์ ก็ต้องให้นักท่องเที่ยวมาเรียนรู้วิถีชีวิต เช่นการไถนา ปลูกข้าวเป็นต้น” นายสัติยพันธ์ คชมิตร หัวหน้าศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เปิดเผยว่า “การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนสำหรับประเทศไทยนั้นยังต้องเร่งให้ทันกับเพื่อนบ้าน นักศึกษาจะต้องเร่งภาษาอังกฤษ หาความรู้เพิ่มเติม หางานพิเศษทำในระหว่างเรียน จะทำให้พัฒนาศักยภาพได้มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันแรงงานจากประเทศฟิลิปปินส์ เริ่มเข้ามาในประเทศไทย เพราะมีความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ ดังนั้นนักศึกษาจะต้องตระหนัก และให้ความสำคัญกับการปรับตัว เพื่อโอกาสในการเข้าสู่ตลาดแรงงานอาเซียน จากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองนักศึกษาเวียดนามที่มาเรียนในประเทศไทย พบว่าชาวเวียดนามนิยมใช้สินค้าไทยมากกว่าสินค้าจากประเทศจีน สังเกตจากการมาเยี่ยมบุตรหลานจะซื้อของกลับไปยังประเทศของตนจำนวนมาก ถือเป็นโอกาสของชาวอุดรธานีที่จะทำการค้าขายกับเวียดนามได้มากยิ่งขึ้นเมื่อเปิดประชาคมอาเซียน” สำหรับในกิจกรรมการสัมมนาในช่วงบ่าย เป็นการนำเสนอผลงานของนักศึกษาปริญญาโท เพื่อเตรียมหัวข้อที่จะทำวิทยานิพนธ์ในโอกาสต่อไป ประกอบด้วยการสัมมนาเชิงอภิปราย ในหัวข้อ “นโยบายสาธารณสุขกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” โดย นายพงศธร คำบ่อเศร้า “TABLET เทคโนโลยีการเรียนรู้สู้ประชาคมอาเซียน” โดย นายอดิเทพ ไชยสิทธิ์ “UNINET กับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน” โดยนายสมชาย แคล้วอาวุธ “การรู้สารสนเทศเพื่อการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอย่างภาคภูมิ” โดย นางอมรรัตน์ วงศ์โสภา และ “การขับเคลื่อนการศึกษาในโรงเรียน..สู่ประชาคมอาเซียน” โดย นางสมปอง สาชนะสุพิน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ขอบคุณที่ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสาขาเทคโนโลยีการสื่อสาร