วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประธานหอการค้าอุดรฯชี้นักธุรกิจพร้อมรับอาเซียน ห่วงนศ.ต้องปรับตัว

ผอ.ททท.ร่วมมองชาวอุดรได้ประโยชน์แน่ ชูวัฒนธรรมไทย เชื่อไม่มีใครเล่าประวัติศาสตร์ชาติไทยได้ดีเท่าคนไทย หลักสูตรปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีการสื่อสาร ร่วมกับสาขาวิชานิเทศศาสตร์และหนังสือพิมพ์เสียงอีสานโพสต์ จัดเวทีสาธารณะเรื่อง เรื่อง "เปิดประตูอาเซียน ชาวอุดรธานีได้ประโยชน์อย่างไร" วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2555 เวลา 9.00 - 12.00 น. ณ ห้อง 324 คณะวิทยาการจัดการ รศ.สมชาย ชื่นวัฒนาประณิธิ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ประธานในพิธีเปิดงาน เปิดเผยว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มีการเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีหลักสูตรสำหรับนักศึกษาอาเซียน ซึ่งจบไป 2 – 3 รุ่น แล้ว ซึ่งบัณฑิตชาวเวียดนามที่จบไปเป็นที่ภาคภูมิใจของผู้ปกครอง มีงานทำและมีความรับผิดชอบเป็นอย่างดี” ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประธานบริหารหลักสูตรเทคโนโลยีการสื่อสาร เปิดเผยว่า การจัดเวทีสาธารณะในครั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปได้มีความรู้ ความเข้าใจในการเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยมีนักศึกษา และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเวทีสาธารณะกว่า 50 คน การจัดเวทีสาธารณะในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานบัณฑิตศึกษา คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โครงการบ่มเพาะหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น มหาวิทยาลัยศรีปทุม สสส. สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย สำหรับวิทยากรตลอดงานได้แก่นายสุนทร ธรรมวงศา มหาบัณฑิตสาขาวิชาเทคโนโลยีการสื่อสาร นายสวาท ธีระรัตนุกูลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า “นักธุรกิจจังหวัดอุดรธานีเริ่มเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมานานแล้ว แต่เดิมเรียกว่าการค้าชายแดน ซึ่งดำเนินธุรกิจกับลาว เวียดนามทั้ง ๆ ที่จังหวัดอุดรธานีไม่ได้อยู่ติดชายแดน สำหรับชาวอุดรธานีจะได้ประโยชน์จากการเปิดประตูสู่อาเซียนแน่ แต่นักศึกษาต้องมีการปรับตัวในด้านความสามารถเฉพาะตัวที่มีความเฉพาะมากยิ่งขึ้น ซึ่งนักศึกษาสายอาชีพจะมีความต้องการจากตลาดแรงงานมาก จังหวัดอุดรธานีมีศักยภาพด้านการค้า การลงทุน จะเห็นได้จากเริ่มมีนักธุรกิจมาลงทุนทำคอนโดมิเนียมกันมากขึ้น โมเดลของจังหวัดอุดรธานีน่าจะเป็นเมืองเดียวกันกับจังหวัดหนองคาย กล่าวคือการพัฒนาจะยึดโมเดลของกรุงเทพและปริมลฑล ซึ่งจะสามารถเชื่อมอุดรธานีและหนองคายเข้าด้วยกันได้ และในปี พ.ศ. 2557 จะเห็นบริษัทต่างชาติมาลงทุนในอุดรธานี 400 กว่าบริษัท สถาบันการศึกษาต้องเปิดสอนภาษาจีนซึ่งถือเป็นภาษาธุรกิจ” นางอัจฉพรรณ บุญเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า “การท่องเที่ยวในจังหวัดอุดรธานียังมีศักยภาพ ไม่แพ้จังหวัดใด ๆ ในภูมิภาคนี้ การเปิดประตูสู่อาเซียนของการท่องเที่ยวอุดรธานี เริ่มตั้งแต่การมีโครงการ 3 เหลี่ยมมรดกโลกเชื่อมมรดกโลกระหว่างบ้านเชียง หลวงพระบาง ฮาลองเบ สำหรับนักศึกษาต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้มากขึ้น ชูความเป็นไทย วิถีไทยยังเป็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยว อยากเห็นมัคคุเทศก์ไทยพูดได้หลายภาษา ควรฝึกตั้งแต่เด็ก ๆ ควรปลูกฝังให้มีความเข้าใจวัฒนธรรมของชุมชน ต้องหาจุดเด่นของอุดรธานี ดึงนักท่องเที่ยวมาเรียนรู้วัฒนธรรมของชาวอุดรธานีให้มากขึ้น เช่นการทำโฮมสเตย์ ก็ต้องให้นักท่องเที่ยวมาเรียนรู้วิถีชีวิต เช่นการไถนา ปลูกข้าวเป็นต้น” นายสัติยพันธ์ คชมิตร หัวหน้าศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เปิดเผยว่า “การเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนสำหรับประเทศไทยนั้นยังต้องเร่งให้ทันกับเพื่อนบ้าน นักศึกษาจะต้องเร่งภาษาอังกฤษ หาความรู้เพิ่มเติม หางานพิเศษทำในระหว่างเรียน จะทำให้พัฒนาศักยภาพได้มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันแรงงานจากประเทศฟิลิปปินส์ เริ่มเข้ามาในประเทศไทย เพราะมีความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ ดังนั้นนักศึกษาจะต้องตระหนัก และให้ความสำคัญกับการปรับตัว เพื่อโอกาสในการเข้าสู่ตลาดแรงงานอาเซียน จากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองนักศึกษาเวียดนามที่มาเรียนในประเทศไทย พบว่าชาวเวียดนามนิยมใช้สินค้าไทยมากกว่าสินค้าจากประเทศจีน สังเกตจากการมาเยี่ยมบุตรหลานจะซื้อของกลับไปยังประเทศของตนจำนวนมาก ถือเป็นโอกาสของชาวอุดรธานีที่จะทำการค้าขายกับเวียดนามได้มากยิ่งขึ้นเมื่อเปิดประชาคมอาเซียน” สำหรับในกิจกรรมการสัมมนาในช่วงบ่าย เป็นการนำเสนอผลงานของนักศึกษาปริญญาโท เพื่อเตรียมหัวข้อที่จะทำวิทยานิพนธ์ในโอกาสต่อไป ประกอบด้วยการสัมมนาเชิงอภิปราย ในหัวข้อ “นโยบายสาธารณสุขกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” โดย นายพงศธร คำบ่อเศร้า “TABLET เทคโนโลยีการเรียนรู้สู้ประชาคมอาเซียน” โดย นายอดิเทพ ไชยสิทธิ์ “UNINET กับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน” โดยนายสมชาย แคล้วอาวุธ “การรู้สารสนเทศเพื่อการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอย่างภาคภูมิ” โดย นางอมรรัตน์ วงศ์โสภา และ “การขับเคลื่อนการศึกษาในโรงเรียน..สู่ประชาคมอาเซียน” โดย นางสมปอง สาชนะสุพิน

วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2555

รับนศ.ปริญญาโทสาขาเทคโนโลยีการสื่อสารเพิ่มเติม

มรภ.อุดรธานี ประกาศรับนศ.ปริญญาโทสาขาเทคโนโลยีการสื่อสาร รับสมัครนักศึกษาใหม่ พ.ศ. 2555 ชูจุดเด่นรับประชาคมอาเซียน จัดกิจกรรมแสวงหาความรู้ที่หลากหลาย เปิดกลุ่มใหม่การสื่อสารการท่องเที่ยว
ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประธานบริหารหลักสูตรปริญญาโทสาขาเทคโนโลยีการสื่อสาร เปิดเผยว่า สาขาเทคโนโลยีการสื่อสาร ประกาศรับสมัครนักศึกษาใหม่ ปี พ.ศ. 2555 เพิ่มเติม กำหนดรับสมัครภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2555 สาขาเทคโนโลยีการสื่อสาร เปิดสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา ในปีการศึกษา 2555 นี้ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรตามมาตรฐาน TQF และได้เพิ่มรายวิชาที่สอดคล้องกับประชาคมอาเซียน ซึ่งจังหวัดอุดรธานีถือเป็น ยุทธศาสตร์สำคัญที่จะเชื่อมสู่อินโดจีน หากมีการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารให้ทันกับภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จะทำให้สามารถรองรับความเป็นประชาคมอาเซียนได้เป็นอย่างดี หลักสูตรเทคโนโลยีการสื่อสาร ใช้เวลาเรียน 2 ปี จำนวนทั้งสิ้น 36 หน่วยกิต ซึ่งผู้เรียนสามารถสำเร็จการศึกษาภายใน 2 ปี และในปีนี้เปิดเพิ่มการสื่อสารการท่องเที่ยวรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สำหรับกิจกรรมเสริมหลักสูตรนั้นสาขาเทคโนโลยีการสื่อสารได้มีกิจกรรมการเรียนรู้ โดยเน้นการค้นคว้าหาความรู้ที่หลากหลาย มีการจัดการสัมมนาทางวิชาการ การนำเสนอผลงานวิจัย การศึกษาดูงานทั้งในภูมิภาคและในต่างประเทศเพื่อให้นักศึกษาได้มีวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าและทันสมัย ผู้สนใจสามารถซื้อใบสมัครและสมัครได้ที่สำนักงานบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี หรือดูรายละเอียดได้ที่ http://graduate.udru.ac.th/joomla/ หรือโทร. 081-2611244

วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ป.โท มรภ.อุดรธานี บินตรงดูงานสถานี KBS เกาหลี หวิดโดนปิดล้อม

ป.โท มรภ.อุดรธานี บินตรงดูงานสถานี KBS เกาหลี หวิดโดนปิดล้อม ชื่นชมการจัดการ การออกอากาศ การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ พร้อมชมระบบ 3D HDV นิทรรศการมิติใหม่ การออกอากาศแบบไร้ผู้ควบคุม ขากลับหวิดโดนปิดล้อม จากเหตุประท้วงของพนักงานสถานี KBS วิ่งหนีขึ้นรถกันวุ่น
ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประธานบริหารหลักสูตรเทคโนโลยีการสื่อสาร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เปิดเผยว่า สาขาเทคโนโลยีการสื่อสารจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับนักศึกษาปริญญาโท โดยจัดศึกษาดูงานต่างประเทศ ณ สถานีโทรทัศน์ KBS ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียงในประเทศเกาหลีใต้ โดยมีผศ.ดร.วัชพร มานะจิตร ผศ.ดร.ลือชัย พรหมรัตน์รักษ์ และนักศึกษาปริญญาโท จำนวน 13 คน รวม 16 คน เข้าร่วมศึกษาดูงาน ณ ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 8 - 12 พฤษภาคม 2555 ในการศึกษาดูงาน ณ สถานีโทรทัศน์ KBS นั้นได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากเจ้าหน้าที่สถานี โดยได้เข้าชมภาพยนตร์แนะนำสถานีในระบบ 3D สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักศึกษาเป็นอย่างมาก ทั้งนักศึกษาและอาจารย์ได้ทดลองเป็นพิธีกรในการออกอากาศสด รายงานข่าวพยากรณ์อากาศ สร้างความสนุกสนานและได้รับความรู้ และประสบการณ์เกี่ยวกับการออกอากาศของสถานีด้วย นอกจากนั้นได้เยี่ยมชมนิทรรศการประวัติความเป็นมาของสถานีโทรทัศน์ KBS และการใช้เทคโนโลยีระบบ HD มาช่วยในการออกอากาศอีกด้วย ขณะที่ดูงานอยู่นั้นได้รับแจ้งว่าสถานีโทรทัศน์ KBS จะปิดเนื่องจากมีกลุ่มพนักงานประท้วงและเคลื่อนขบวนมาปิดล้อมสถานีทำให้คณะศึกษาดูงานจำเป็นต้องวิ่งหนีเอาตัวรอดขึ้นรถกันจ้าละหวั่น แต่รถถูกกักไม่ให้ออกจากพื้นที่ ต้องมีการเจรจากันอยู่นานตำรวจเกาหลีใต้จึงเปิดทางให้ สร้างความตื่นเต้นให้กับคณะศึกษาดูงานในครั้งนี้เป็นอย่างมาก การศึกษาดูงานต่างประเทศในครั้งนี้เป็นกิจกรรมในโครงการเสริมสร้างวิสัยทัศน์ให้กับนักศึกษาปริญญาโทที่เข้าเรียนในหลักสูตรเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งขณะนี้เปิดรับนักศึกษาใหม่ ปี พ.ศ. 2555 จำนวน 30 คน ภายในเดือนพฤษภาคม 2555 โดยนักศึกษาจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมาประยุกต์ใช้กับงานได้อย่างเหมาะสม สื่อใหม่ที่เข้ามามีบทบาทต่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ผู้สนใจสามารถซื้อใบสมัครและสมัครได้ที่ สำนักงานบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://masterudru.blogspot.com/

วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

รุ่น 4 เทคโนโลยีการสื่อสาร ยกทีมขอดูงานด้านการวิจัย ป.โท มรภ.เลย






สาขาเทคโนโลยีการสื่อสาร มรภ.อุดรธานี ยกห้องเรียนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการวิัจัยและการเรียนการสอนระดับปริญญาโท สาขาการวิจัยและประเมินผลการศึกษา มรภ.เลย วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 รองอธิการบดีให้การต้อนรับอบอุ่น

ผศ.ดร.เชาว์ อินใย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เปิดเผยว่า ขอต้อนรับอาจารย์และนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีการสื่อสาร มรภ.อุดรธานีที่ได้เดินทางเข้ามาศึกษาดูงานของสาขาการวิจัยและประเมินผลการศึกษาในครั้งนี้ การจัดการเรียนการสอนปริญญาโทของมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ขณะนี้จัดการเรียนการสอนแบบบล็อกคอร์ส เรียนต่อเนื่อง 2 เดือน แล้วจัดสอบเลย ซึ่งระยะเวลาจะสั้น ทำให้นักศึกษาเรียนคอร์สเวริ์คเสร็จภายใน 1 ปี ครึ่ง แล้วทางสาขาได้มีรูปแบบจัดอบรมเข้มพร้อมนำเสนอหัวข้อแล้วสอบให้ได้หัวข้อพร้อมกันทุกคน โดยเชิญคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายมหาวิทยาลัยมาร่วมวิพากษ์ เมื่อได้หัวข้อแล้วก็จะมีการติดตามให้สามารถสำเร็จการศึกษาภายใน 2 ปี
ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประธานบริหารหลักสูตร สาขาเทคโนโลยีการสื่อสาร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เปิดเผยว่า การนำนักศึกษาเข้าศึกษาดูงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้ทราบแนวทางในการหาหัวข้อวิทยานิพนธ์ และเรียนรู้เทคนิคในการคิดชื่อเรื่องวิทยานิพนธ์ พร้อมกับได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาของทั้งสองมหาวิทยาลัย พร้อมหาแนวทางความร่วมมือกัน โดยเบื้องต้นได้ประชาสัมพันธ์ให้สาขาการวิจัยและประเมินผลการศึกษา มานำเสนอการวิจัย ในงานการนำเสนอผลงานวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา เครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 5 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ในระหว่างวันที่ 25 - 26 สิงหาคม 2555 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
การจัดศึกษาดูงานในครั้งนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งของการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา สาขาเทคโนโลยีการสื่อสาร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ซึ่งขณะนี้กำลังประกาศรับสมัครนักศึกษาใหม่ ปี พ.ศ. 2555 รับจำนวน 30 คน ผู้สนใจสามารถซื้อใบสมัครได้ที่สำนักทะเบียนฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี หรือดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ http://graduate.udru.ac.th/joomla/

วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สาขาเทคโนโลยีการสื่อสารบินตรงขอดูงานมรภ.ภูเก็ต





อาจารย์และนักศึกษาปริญญาโทสาขาเทคโนโลยีการสื่อสาร ขอดูงานการเรียนการสอนบัณฑิตศึกษา มรภ.ภูเก็ต อธิการบดีให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมโชว์ผลงาน UBI แนะหัวข้อวิทยานิพนธ์นักศึกษา

ผศ.ดร.ประภา กาหยี อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เปิดเผยว่า "การเรียนการสอนระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตเน้นสอนในมหาวิทยาลัยเป็นหลัก โดยจัดการเรียนการสอนในวันเสาร์ อาทิตย์ มีเพียงสาขาสาธารณสุขเท่านั้นที่เปิดสอนในภาคปกติ ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตยินดีที่จะมีโครงการร่วมมือกัน เช่นการมาทำการวิจัยที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีศักยภาพด้านการใช้ 3G หรือการเปิดสอนที่จะใช้ทรัพยากรร่วมกันก็สามารถทำได้ เนื่องจากขณะนี้การคมนาคมสะดวกขึ้น โดยมีเครื่องบินบินตรง ภูเก็ต - อุดรธานี ทุกวัน ซึ่งน่าจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในอนาคตได้"
ผศ.ดร.เสกสรร สายสีสด ประธานบริหารหลักสูตรสาขาเทคโนโลยีการสื่อสาร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เปิดเผยว่า การศึกษาดูงานในครั้งนี้ เป็นการพานักศึกษาที่เรียนระดับปริญญาโทมาหาประเด็นปัญหา หัวข้อการทำวิทยานิพนธ์ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่องในการใช้เทคโนโลยี 3G สำหรับคณะผู้ร่วมศึกษาดูงานประกอบด้วย ผศ.ดร.วัชพร มานะจิตรและนักศึกษาปริญญาโท รุ่นที่ 2 รุ่นที่ 3 และรุ่น ที่ 4 ร่วมศึกษาดูงานในครั้งนี้ ขอขอบพระคุณทางมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตที่ให้ความอนุเคราะห์นักศึกษาในการเข้าศึกษาดูงานในครั้งนี้
การศึกษาดูงานในครั้งนี้ได้ศึกษาดูงานด้านการจัดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา โดยฟังการบรรยายสรุปจากบัณฑิตวิทยาลัย หลังจากนั้นได้เดินทางไปศึกษาดูงานการดำเนินการโครงการ UBI ของมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ที่ประสบความสำเร็จในการบ่มเพาะวิสาหกิจชุมชน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ซึ่งคาดว่านักศึกษาจะได้นำประเด็นปัญหาต่าง ๆ มาเสนอเป็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ต่อไป.
[รวมภาพการศึกษาดูงาน]